มีเรื่องเล่ากันว่า
J.K Rowling ต้องเสนอขายนิยายเรื่อง Harry Potter มากเกินกว่า 9 ครั้ง จนกว่าจะได้สำนักพิมพ์เล็ก ๆ แห่งหนึ่ง
ตกลงรับตีพิมพ์
หากว่าเธอล้มเลิกความพยายามตั้งแต่ครั้งที่
4
หรือครั้งที่ 8 โลกใบนี้ก็คงไม่มีนิยายและภาพยนตร์ที่สร้างรายได้ให้กับตัวเธอเองและประเทศชาติอย่างถล่มทลาย
ยังไม่นับการเปลี่ยนชีวิตที่ล้มเหลวของผู้หญิงคนหนึ่งให้กลายเป็นมหาเศรษฐีนีผู้ประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่
บทเรียนของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่
“ความมุ่งมั่น ความมุ่งมั่น และความมุ่งมั่น” เพราะเป็นสิ่งที่ใคร ๆ
ก็รู้กันดีอยู่แล้ว
แต่สิ่งที่น่าสนใจ ก็คือ
ตัวเลขที่ชัดเจนว่าเธอได้พยายามมากกว่า 9 ครั้ง
กว่าที่จะได้รับผลตอบแทน
ผมเชื่อมั่นว่า “9 ครั้ง” ย่อมเป็นความพยายามที่มากกว่าค่าเฉลี่ยของนักเขียนทั่วไป
ดังนั้น ประเด็นที่สำคัญของเรื่องเล่านี้ก็คือ
เมื่อคุณกำลังกระทำสิ่งใดที่สำคัญต่อชีวิต ให้กำหนดตัวเลขของจำนวนครั้งที่จะพยายามให้มากกว่าค่าเฉลี่ยสำหรับคนธรรมดา
ก่อนที่จะตัดสินใจล้มเลิกแล้วไปทำสิ่งอื่นแทน
แม้แต่เรื่องง่าย ๆ ในชีวิต
ผมก็ค้นพบว่า คนเรานั้นมักจะ “ล้มเลิก” เร็วเกินไป
ในอดีตที่ผ่านมา
ผมก็เคยหงุดหงิดเมื่อโบกรถแท็กซี่แล้วถูกปฏิเสธ
แต่เมื่อได้ทดลองใช้ความพยายาม “9 ครั้ง” แบบเดียวกับนิยาย Harry Potter ผมก็ไม่เคยพบกับผิดหวังเลย
โดยมีตัวเลขสูงสุดของการถูกปฏิเสธเพียง 5 ครั้งเท่านั้น
คนส่วนใหญ่อาจบอกว่า
เราต้องทนให้แท็กซี่ปฏิเสธถึง 9 ครั้ง
มันเป็นเรื่องที่มากเกินจะรับได้
หากทว่า
สิ่งที่คุณลืมคิดไป ก็คือ การโบกมือเรียกและเปิดประตูเข้าไปถามแต่ละครั้งนั้น
ไม่ได้เสียเวลาและพลังงานมากมายเลย
ความหงุดหงิดและโมโหโกรธาที่ถูกปฏิเสธต่างหาก
ที่สร้างต้นทุนและภาระให้กับชีวิตของคุณมากกว่าการโบกมือ 9 ครั้งหลายเท่าตัวนัก
“ดร. ซุนยัดเซ็น” ที่ได้รับยกย่องให้เป็นบิดาแห่งประชาชาติจีน
ก็ต้องผ่านความล้มเหลวในการปฏิวัติถึง 10 ครั้ง ก่อนที่จะสามารถสถาปนาประเทศจีนยุคใหม่ได้
สาเหตุแห่งความล้มเหลว ก็มีมากมาย
ตั้งแต่กำลังทหารที่อ่อนด้อยกว่า
การถูกทรยศจากพันธมิตรทั้งชาวต่างชาติและทหารรัฐบาลที่ตัดสินใจเข้าร่วม
ไปจนกระทั่งถึงเรื่องเล็ก ๆ อย่างเช่น กระสุนปืนหมด เงินทุนหมด
และความใจร้อนของนักปฏิวัติบางคน หากทว่า ดร. ซุนยัดเซ็น ก็ยังยืนหยัด ปรับตัว
และดิ้นรน ทุกวิถีทาง เพื่อให้งานปฏิวัติของท่านประสบความสำเร็จ
แม้ว่าการปฏิวัติครั้งสุดท้าย
จะประสบความสำเร็จแบบโชคช่วยอยู่บ้าง แต่หากไม่มีการดิ้นรนสุดชีวิตและหัวใจทั้ง 10
ครั้ง เราก็ไม่อาจทราบว่า
หน้าประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ของประเทศจีนในวันนี้จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
ความพยายามเพียงอย่างเดียว
ไม่จำเป็นต้องหมายถึง ความสำเร็จเสมอไป
แต่หากเรายังรักษาจิตวิญญาณแห่งการดิ้นรนและต่อสู้เอาไว้ได้
เราย่อมต้องได้รับผลลัพธ์ที่ดีตอบแทนไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง
ในฐานะกบฏของสังคมหรือนักปฏิวัติ
“จิตร ภูมิศักดิ์” ย่อมเป็นผู้ล้มเหลว
เมื่อสมัยเป็นนักศึกษา
เขาถูกจับโยนลงมาจากเวทีอภิปราย ในฐานะนักเขียน เขาถูกจับขังคุก
และในฐานะนักปฏิวัติ เขาถูกยิงตายที่ชายป่าแห่งหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม
ผลงานเขียนหนังสือของเขากลับเป็นอมตะ โดยเฉพาะเรื่อง "ความเป็นมาของคำสยาม
ไทย,
ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ" ซึ่งเป็นผลงานที่เขียนในระหว่างที่ถูกคุมขัง
ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความยากลำบากในการค้นคว้าเอกสารและข้อมูล
เขากลับสามารถผลิตผลงานที่ยิ่งใหญ่ได้ นั่นย่อมแสดงถึง
พลังแห่งการดิ้นรนและต่อสู้ที่เหนือธรรมดา
สิ่งที่ผมชื่นชมเขา ก็คือ
ความคิดทางการเมืองของเขา อาจจะรุนแรงและสุดขั้วไปบ้าง
แต่เมื่อได้สั่งสมผ่านการดิ้นรนต่อสู้ของชีวิตจริง
ในที่สุดก็สามารถปรับปรุงผลงานให้ลุ่มลึก ละเมียด
และสอดคล้องกับความเป็นจริงได้อย่างสวยงาม
“ดิ้นรน” เป็นคำที่ผมชอบมากกว่า
“พยายาม” เพราะมันได้สะท้อนถึงการต่อสู้ที่มากกว่าการพุ่งเข้าชนแบบดิบ ๆ เท่านั้น
แต่ยังหมายถึงการปรับตัวให้เข้ากับความเป็นจริงที่ซับซ้อน รวมไปถึง
การพลิกแพลงสภาพแวดล้อมที่เป็นอุปสรรคให้กลายเป็นประโยชน์ต่อภารกิจของเรา
ดังนั้น ในท่ามกลางสถานการณ์ของประเทศไทยที่เป็นปัญหาในแทบทุกทาง
รวมไปถึงเศรษฐกิจโลกที่กำลังฝืดเคือง ผมก็อยากส่งต่อแรงบันดาลใจจากเรื่องเล่าของบุคคลในประวัติศาสตร์ทั้งหลายให้กับคนไทยทุกคนได้พยายาม
“ดิ้นรนให้ครบ 10 ครั้ง” เพื่อจะได้เปลี่ยนชีวิตของตัวเราให้ดีขึ้น
และจะดียิ่งกว่าถ้ามันสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศชาติด้วย